เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
1. รับทราบแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS)
2. อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการพัฒนาและจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน
3. ให้ ดศ. เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่ มท. พัฒนามีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนสอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
4. ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ให้การสนับสนุนงบประมาณให้กับ มท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและจัดทำระบบ FVS โดยครอบคลุมการพัฒนาและติดตั้งซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดหาอุปกรณ์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการให้บริการ และการทดสอบประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อตกลงการให้บริการของระบบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดเพื่อการบริหารงานและการให้บริการ
5. ให้ มท. หรือ ดศ. แล้วแต่กรณี รายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID ให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า
1. ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการใช้งานระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ สพร. สนับสนุนการดำเนินงานของกรมการปกครองในการพัฒนาระบบ Digital ID สำหรับประชาชนต่อไป
2. นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ ดศ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบ Digital ID เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมที่ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและภาคธุรกิจได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมแล้ว แต่ยังติดขัดในประเด็นข้อกฎหมาย จึงเห็นควรมอบหมายให้ ดศ. และ มท. (กรมการปกครอง) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อยุติและแนวทางข้อกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบ Digital ID ต่อไป [ตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403 (กน)/596 ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 เรื่อง ข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี]
3. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ดศ. และ มท. ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบ FVS โดย มท. เห็นชอบที่จะดำเนินการพัฒนาและจัดให้มีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (FVS) โดยมี ดศ. เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มท. จะเป็นผู้พิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาผลการหารือดังกล่าวแล้วมีบัญชาเห็นชอบในการนำเรื่องแนวทางการพัฒนาระบU Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบ FVS เสนอคณะรัฐมนตรี [ตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403 (กน)/6481 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี] โดยผลการหารือดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 ระบบ FVS ที่ มท. จะพัฒนาขึ้นเป็นระบบที่จะใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) ของผู้รับบริการระบบหนึ่ง โดยมีกลไกการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวบุคคลด้วย การเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ผู้รับบริการถ่ายส่งเข้าระบบกับฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือที่ดูแลโดย มท. ซึ่งได้แปลงเป็นแม่แบบชีวมิติ (Biometric template) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความแม่นยำตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และแจ้งผลในรูปแบบของร้อยละของความถูกต้องของภาพถ่ายกับฐานข้อมูลภาพใบหน้า ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้ มท. เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ FVS และกำหนดมาตรการในการดูแลข้อมูลด้วยระดับความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูง ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถใช้บริการระบบ FVS ได้ โดยต้องมีมาตรฐานการทำงานตามที่ มท. กำหนด หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบดังกล่าว หากพัฒนาตามมาตรฐานได้สำเร็จจะช่วยลดต้นทุนด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชน และยกระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ทุกภาคส่วนในการทำธุรกรรม
3.2 บทบาทเบื้องต้นของ มท. และ ดศ. ในการดำเนินการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัลจากการหารือดังกล่าว มีดังนี้
หน่วยงาน | บทบาท |
มท. | – ดำเนินการพัฒนาและจัดให้มีระบบ FVS – ดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน – พิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน |
ดศ. | – เป็นที่ปรึกษาให้กับ มท. ให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบดังกล่าวที่ มท. จะจัดทำขึ้นมีความมั่นคง ปลอดภัยน่าเชื่อถือ รวมถึงสอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง |