เรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government

                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ เรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                   สคก. เสนอว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ให้ สคก. พัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมาย (Legal Ecosystem) เพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ซึ่ง สคก. ได้ดำเนินการแล้ว โดยสรุปได้ดังนี้
                   1. จัดทำร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันและระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
                    2. จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 แล้ว โดยหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
                   3. ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินงานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัด และคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดสามารถกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน
                   4. ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบันกฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ รองรับการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว
                   5. จัดทำระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายข้อมูลรายยงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศโดยมีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565