เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ของ ส.ส.ท. ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
                   ส.ส.ท. ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. ผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์การ ประจำปี 2563 ส.ส.ท. ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ผ่าน 4 กิจการหลัก ดังนี้
                             1.1 กิจการวิทยุโทรทัศน์ โดยส่งสัญญาณในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 จำนวน 21 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนข่าวสารกว่าร้อยละ 50 และสารประโยชน์ทางด้านการศึกษาและสาระบันเทิงรวมกว่าร้อยละ 40 รวมทั้งปรับเพิ่มการปฏิบัติงานด้านเนื้อหาที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นมากขึ้นในรูปการบริหารแบบศูนย์สร้างสรรค์เนื้อหาพิเศษ
                             1.2 บริการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยทดลองออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Active Learning TV (ALTV) หมายเลข 4 จำนวน 15 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาสำหรับเด็กและครอบครัวจาก 255 นาที/สัปดาห์ เป็น 5,602 นาที/สัปดาห์ ส่งผลให้ยอดรวมรายการเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.05 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด
                             1.3 ด้านวิทยุกระจายเสียง โดยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบนช่องทางวิทยุออนไลน์ด้วยแนวคิด See The World via The Voice จำนวน 6,205 ชั่วโมงต่อปี และเริ่มผลิตสื่อเสียงในรูปแบบพอดคาสต์กว่า 10 รายการ
                             1.4 ช่องทางบนสื่อออนไลน์ โดยมีบริการใหม่ ได้แก่ (1) เว็บไซต์เด็กและครอบครัว Thai PBS Kids (2) เว็บไซต์ The Active สื่อสารข้อมูลและมุมมองต่อนโยบายสาธารณะที่ส่งผลต่อสังคม และ (3) เว็บไซต์ Decode พื้นที่สื่อสารของพลเมืองรุ่นใหม่
                   2. ผลงานเด่นปี 2563 ได้แก่ (1) 5 ข่าวเด่นไทยพีบีเอส เช่น วิกฤติภัยแล้งและฝุ่น PM2.5 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการกราดยิงที่โคราช (2) 5 รายการเด่นไทยพีบีเอส เช่น รายการ “ยินดีที่ได้รู้จัก” สารคดี “ภาคภูมิไทย” และรายการ “มหาอำนาจบ้านนา” (3) 5 รายการเด่นช่อง ALTV เช่น รายการในกลุ่ม Mash-Up รายการ “KIDS พิชิต CODE” และรายการ “ท่าไม้ตาย” (4) 5 คลิปเด่นออนไลน์ เช่น “เก็บเงินสด” ทางรอดวิกฤตโควิด-19 และซีรีส์วิถีคน วิถีเรือขนทราย และ (5) 5 คลิปเด่นสื่อพลเมือง เช่น ปันน้ำจากชาวม้งและโรงทานยามยาก
                   3. แผนบริหารกิจการและแผนงบประมาณสำหรับปี 2564 ได้ดำเนินการภายใต้เป้าหมายยุทธศาสตร์ “แตกต่างบนความยั่งยืน” และตัวชี้วัดความสำเร็จใน 5 ประเด็นหลัก เช่น การได้รับการยอมรับจากประชาชนในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ และการมีช่องทางเข้าถึงผู้รับสารอย่างทั่วถึงและมีเนื้อหาที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยมีสัดส่วนงบประมาณตามภารกิจประกอบด้วย (1) ภารกิจผลิตเนื้อหา ช่องทาง และบริการ 1,669  ล้านบาท (2) ภารกิจสนับสนุน 259 ล้านบาท (3) บุคลากรและสวัสดิการ 636 ล้านบาท (4) งานบริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก 306 ล้านบาท (5) แผนลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายประโยชน์สาธารณะ 123 ล้านบาท และ (6) แผนสำรอง 15 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 3,008 ล้านบาท
                   4. ผังรายการในปี 2563 และแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงผังรายการสำหรับปี 2564 ส.ส.ท. ได้กำหนดกลยุทธ์หลักของแผนการจัดทำรายการปี 2564 เช่น การออกแบบกลไกการทำงานที่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่เหมาะสมกับความต้องการ และเป็นทางออกของปัญหาสำหรับสังคมส่วนใหญ่ การสร้างผู้ชมที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อเนื้อหารายการ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องแม่นยำด้วยการสนับสนุนจากการจัดการระบบฐานข้อมูล
                   5. งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เห็นว่า ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

รายการปี 2563ปี 2562เพิ่ม/(ลด)
งบแสดงฐานะการเงิน
   รวมสินทรัพย์7,723.827,767.29(43.47)
   รวมหนี้สิน878.00804.0074.00
งบแสดงผลการดำเนินการทางการเงิน
   รวมรายได้2,635.022,763.24(128.22)
   รวมค่าใช้จ่าย2,752.142,320.73431.41
รายได้สูงกว่า (ต่ำกว่า) ค่าใช้จ่ายก่อนดอกเบี้ยจ่าย(117.12)(442.51)(559.63)

                   6. รายงานการตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) การสอบทานรายงานทางการเงิน (ตามข้อ 5) (2) การสอบทานการบริหารความเสี่ยง โดยแนะนำให้ ส.ส.ท. ติดตามและรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ (3) การสอบทานระบบการควบคุมภายใน พบว่า มีความเพียงพอเหมาะสมโดยแนะนำ ให้ ส.ส.ท. พัฒนาการกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (4) การสอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยแนะนำให้ ส.ส.ท. เร่งจัดทำมาตรการจัดการเรื่องร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบให้แล้วเสร็จ (5) การกำกับดูแลงานตรวจสอบภายในโดยให้ข้อแนะนำและติดตามการดำเนินการแก้ไขในประเด็นที่มีนัยสำคัญตามรายงานผลการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และ (6) การรักษาคุณภาพของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยได้ทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการนโยบายทุกไตรมาส
                   7. รายงานของคณะกรรมการประเมินผล ได้แก่ (1) การประเมินด้านประสิทธิผล พบว่า ประสิทธิผลการดำเนินงานและผลสำเร็จของการดำเนินงานตามเป้าประสงค์อยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะเป้าประสงค์ด้านพัฒนาเทคโนโลยีและช่องทางที่เพิ่มขึ้น (2) การประเมินด้านประสิทธิภาพ พบว่า การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในมิติปัจจัยนำเข้าด้านวัสดุอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ในขณะที่ด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับควรต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อเอื้อต่อการแข่งขันในสภาวะภูมิทัศน์สื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน (3) การประเมินด้านการพัฒนาองค์การ พบว่า ภาพรวมของการพัฒนาองค์การอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่ได้คะแนนน้อย เช่น ด้านโครงสร้างบุคลากรมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการบริหารจัดการที่ต้องปรับเพื่อความคล่องตัว และด้านการจัดกิจกรรมให้ผู้บริหารระดับสูงพบบุคลากรอย่างเพียงพอ และ (4) การประเมินด้านความพึงพอใจของผู้ชมและการสนับสนุนจากประชาชน พบว่า ทุกกลุ่มรายการได้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายการข่าว สารคดี และรายการเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 11.65 มีความยินดีที่จะจ่ายเงินสนับสนุน ส.ส.ท. เฉลี่ยเดือนละประมาณ 150 บาท เพื่อให้ ส.ส.ท. สามารถดำเนินการได้ต่อไป
                   8. การรับฟังความคิดเห็นจากสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น (1) ควรเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในรูปแบบและช่องทางใหม่ ๆ เพื่อให้ได้รับความนิยมจากประชาชนทุกกลุ่ม (2) ควรสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ศูนย์ข่าวภูมิภาค สื่อท้องถิ่น และองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อร่วมกันผลิต พัฒนาเนื้อหา และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสื่อสาธารณะ และ (3) ควรสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายนอกองค์การเพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ส.ส.ท. ได้มีการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะฯ เช่น (1) จัดให้มีกลไกการบริหารคุณภาพเนื้อหาในรูปแบบ Executive Overview Team ดูแลคุณภาพเนื้อหาทั้งรายการเก่าและรายการใหม่ (2) จัดอบรมนักสื่อสารชุมชนใน 4 ภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ชุมชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน C-Site และ (3) พัฒนากลไกและรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นให้มีประสิทธิภาพ
                   9. ข้อมูลร้องเรียนจากผู้ชม/ผู้ฟังรายการและวิธีการแก้ไข เช่น (1) รายการวันใหม่ไทยพีบีเอสได้นำมุสลิมข้ามเพศมารายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนราธิวาสในแง่ตลกขบขัน ซึ่งคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเห็นว่า เป็นการขัดจริยธรรมสื่อข้อ 7 ด้านการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ศาสนา ไสยศาสตร์ และความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ (2) รายการวันใหม่วาไรตี้นำเสนอข้อมูลการทำเจลแอลกอฮอลล์ล้างมือที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า เป็นการขัดจริยธรรมสื่อข้อ 4 ด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง อย่างไรก็ตาม การนำเสนอดังกล่าวเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี แต่ควรอ้างอิงผู้ที่มีความรู้เพื่อช่วยป้องกันความผิดพลาดและได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และ (3) การเปิดรับความช่วยเหลือให้แก่แหล่งข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ได้รับเงินบริจาคกว่า 8 ล้านบาทในเวลาชั่วข้ามคืน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า มิได้เป็นการประพฤติผิดจริยธรรมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการกระทำไปโดยสุจริต อย่างไรก็ตามกรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายจึงควรให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางของ ส.ส.ท. ในการทำข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือบุคคลหรือชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้อีก

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/44640