คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินงานการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ1 (Government Data Center and Cloud Services : GDCC)
2. เห็นชอบให้ ดศ. จัดให้มีคลาวด์กลางภาครัฐและให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เป็นผู้ดำเนินคลาวด์กลางภาครัฐ อันเนื่องมาจากการควบรวมกิจการและได้รับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) ทั้งหมดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
3. เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) โครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (โครงการฯ) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,216.42 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า
1. ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 ดศ. โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ร่วมกับ NT (บมจ. กสท โทรคมนาคม ในขณะนั้น) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
1.1 ตั้งแต่ปี 2563 ดศ. ได้ดำเนินการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐแก่หน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM) จำนวน 8,000 VM และต่อมาได้เพิ่มขีดความสามารถของระบบคลาวด์กลางภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐและพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) ของหน่วยงานที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การโอนย้ายข้อมูลและระบบงานจาก G-Cloud มายังคลาวด์ กลางภาครัฐเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 โดยทรัพยากรหลักในการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐของ ดศ. ที่ผ่านมาสรุปได้ ดังนี้
รายการ | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 (ความสามารถในการให้บริการของ ดศ. ในปัจจุบัน) |
เครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM) | 8,000 | 12,000 (เพิ่มขึ้น 4,000) | 12,000 (คงเดิม) |
หน่วยประมวลผลกลางเสมือน (vCPU) | 32,000 | 48,000 (เพิ่มขึ้น 16,000) | 48,000 (คงเดิม) |
หน่วยความจำหลัก หรือ RAM (GB) | 64,000 | 96,000 (เพิ่มขึ้น 32,000) | 96,000 (คงเดิม) |
พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (GB) | 960,000 | 1,880,196 (เพิ่มขึ้น 920,196) [ประกอบด้วย 1,440,000 (ตามจำนวน VM) + 440,196 (NT สนับสนุน)1] | 3,000,000 (เพิ่มขึ้น 1,119,804) [ประกอบด้วย 1,440,000 (ตามจำนวน VM) + 1,560,000 (จัดซื้อเพิ่มเติม)2] |
หมายเหตุ : 1. ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หน่วยงานภาครัฐมีความต้องการใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐในส่วนของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเร่งด่วนจำนวนมาก NT จึงสนับสนุนพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 440,196 GB ในปีประมาณ 2564 สำหรับปีงบประมาณ 2565 (ผลการดำเนินงาน ณ เดือนธันวาคม 2564) ดศ. ได้จัดซื้อพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 1,560,000 GB โดยอยู่ในกรอบวงเงินที่ ดศ. ได้รับจัดสรรสำหรับปีงบประมาณ 2565
2. ส่วนของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเทียบเคียงเป็น VM ที่ให้บริการได้เพิ่มขึ้น จำนวน 13,000 VM และช่วงเดือนมกราคม 2565 สดช. ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขยายทรัพยากรคลาวด์จำนวน 8,000 VM ทำให้มีทรัพยากรคลาวด์ทั้งสิ้น จำนวน 33,000 VM ซึ่งสามารถรองรับยอดที่ให้บริการ 31,568 VM ได้
โดย ดศ. รายงานเพิ่มเติมว่า หน่วยงานได้ใช้บริการคลาวด์กลางภาครัฐที่ได้รับจัดสรรในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการให้บริการด้านข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ (2) ด้านการให้บริการแอปพลิเคชัน แก่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ และ (3) ด้านการจัดเก็บข้อมูลและระบบภายในของหน่วยงาน (Back Office) มีตัวอย่างการใช้งาน เช่น ระบบบริการการออกหนังสือสำคัญการส่งออกนำเข้าสินค้า (DFT SMART Licensing Systems : SMART-1) ของกรมการค้าต่างประเทศ ระบบสารสนเทศของศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศ ระบบงานภายในกองบิน 5 กองบิน 46 ของกองทัพอากาศ ระบบรับร้องนิติกรณ์เอกสาร กรมการกงสุล เป็นต้น
1.2 ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ดศ. ได้ดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐที่สำคัญ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐในลักษณะ Active – Active กล่าวคือ หากระบบคลาวด์ของสถานที่ (Site) ใดไม่สามารถทำงานได้ ระบบคลาวด์ของอีกสถานที่ (Site) จะทำงานทดแทนได้ทันที โดยมีการรับประกัน Service Level Agreement (SLA) ร้อยละ 99.99 มีระยะเวลาที่ระบบคลาวด์ทั้งหมดไม่สามารถใช้งานได้ (Total Failure) ไม่เกิน 4 นาที 23 วินาทีต่อเดือน (2) การจัดให้มีระบบเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย ระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และมีบุคลากรดูแลระบบและให้คำแนะนำตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (3) การได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001 ISO/IEC 20000-1 และ CSA Star ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งานบนระบบคลาวด์และเป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ดศ. ยังได้ดำเนินการปรับปรุงแผนการดำเนินการและการให้บริการระบบคลาวด์ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและให้สามารถรองรับความต้องการใช้งาน รวมถึงจัดทำหลักเกณฑ์การให้บริการคลาวด์กลางภาครัฐเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการให้บริการและการเรียกคืนทรัพยากรจากระบบงานที่หน่วยงานไม่ใช้บริการแล้วเพื่อบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
1.3 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ดศ. ได้จัดฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐให้มีทักษะด้านการใช้งานระบบประมวลผลคลาวด์ (Cloud Computing) ผ่านหลักสูตร GOCC Training and Certification เพื่อให้หน่วยงานมีบุคลากรที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์กลางภาครัฐได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการอบรมแล้วจำนวน 2,065 คน
1.4 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ดศ. ได้จัดส่งแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) ขั้นตอนการขอใช้บริการ (2) คุณภาพของบริการคลาวด์กลางภาครัฐ และ (3) การรับแจ้งปัญหา สอบถามข้อมูล โดยได้รับผลการประเมินจากหน่วยงานที่ตอบแบบสอบถาม 170 หน่วยงาน จากทั้งหมด 380 หน่วยงานอยู่ในระดับ พอใจมาก – มากที่สุด สำหรับทั้ง 3 ด้านของการบริการ
2. เนื่องจากยังมีคำขอใช้บริการคลาวด์กลางภาครัฐที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร ดศ. จึงมีความจำเป็นต้องขยายความสามารถในการให้บริการด้วยการดำเนินโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) เป็นวงเงินจำนวน 6,216.42 ล้านบาท ตามที่ ดศ. เสนอในครั้งนี้ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียด |
2.1 วัตถุประสงค์ | (1) เพื่อตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (2) เพื่อให้มีระบบกลางในการให้บริการคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีมาตรฐานและปลอดภัย (3) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง (4) เพื่อรองรับการใช้งาน การวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBDi) (5) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเลือกใช้บริการได้ตรงตามความต้องการของแต่ละหน่วยงานมากขึ้นบน Government Cloud Marketplace3 (6) เพื่อประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล |
2.2 เป้าหมาย | ให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐแก่หน่วยงานภาครัฐโดยมีทรัพยากรที่สามารถรองรับความต้องการใช้ระบบของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทรัพยากร (หน่วย) จำนวนทรัพยากร ที่มีอยู่ปัจจุบัน จำนวนทรัพยากรเป้าหมาย ณ ปี 2568 เครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM) 12,000 อย่างน้อย 25,000 (เพิ่มขึ้น 13,000) หน่วยประมวลผลกลางเสมือน (vCPU) 48,000 อย่างน้อย 100,000 (เพิ่มขึ้น 52,000) หน่วยความจำหลัก (GB) 96,000 อย่างน้อย 200,000 (เพิ่มขึ้น 104,000) พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (GB) 3,000,000 [1,440,000 (ตามจำนวน VM) + 1,560,000 (จัดซื้อเพิ่มเติม)] อย่างน้อย 6,000,000 (เพิ่มขึ้น 3,000,000) [3,000,000 ตามจำนวน VM) + 3,000,000* (จัดซื้อเพิ่มเติม)] |
พร้อมจัดเตรียมลิขสิทธิ์โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล เครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนจำนวนอย่างน้อย 2,000 VM และนำร่องการให้บริการ Government Cloud Marketplace * ส่วนของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเทียบเคียงเป็น VM ที่ให้บริการได้เพิ่มขึ้น จำนวน 25,000 VM เมื่อรวมแล้ว จะมีทรัพยากรคลาวด์ทั้งสิ้น จำนวน 50,000 VM ซึ่งจะสามารถรองรับยอดที่ให้บริการอยู่เดิมและที่รอใช้บริการรวมทั้งสิ้น จำนวน 43,584 VM ได้ | |
2.3 โครงสร้างพื้นฐาน | ระบบคลาวด์กลางภาครัฐจะตั้งอยู่ในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของ NT ที่อาคาร CAT Tower บางรัก และศูนย์โทรคมนาคมนนทบุรี โดยเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความปลอดภัยและมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 27001 และมาตรฐาน CSA Star ทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อทำงานเป็นระบบสำรองระหว่างกัน ซึ่งเป็นการรับประกันการให้บริการอย่างต่อเนื่อง (uptime/availability) ขั้นต่ำ ร้อยละ 99.99 |
2.4 โครงการฯ จะใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 – 2568 จำนวนเงินปีละ 2,072.14 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 6,216.4245 ล้านบาท โดยมีประมาณการรายจ่าย ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ลำดับ | รายละเอียด | ปี 66 | ปี 67 | ปี 68 | รวม |
(1) | ค่าเช่าใช้ระบบเพื่อให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ | ||||
(1.1) ค่าเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 VM | 1,284.00 | 1,284.00 | 1,284.00 | 3,852.00 | |
(1.2) ค่าเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม จำนวน 3,000 TB | 192.60 | 192.60 | 192.60 | 577.80 | |
(2) | ค่าบริการการบริหารจัดการ Log และ Managed Security Service จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 VM | 450.00 | 450.00 | 450.00 | 1,350.00 |
(3) | ค่าบริการสิทธิของระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล (Database license) | 76.51 | 76.51 | 76.51 | 229.53 |
(4) | ค่าบริการ Cloud Marketplace | 50.00 | 50.00 | 50.00 | 150.00 |
(5) | ค่าบริการระบบศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center: NOC) และ Call Center 24 ชั่วโมง 7 วัน | 19.03 | 19.03 | 19.03 | 57.09 |
รวมทั้งสิ้น | 2,072.14 | 2,072.14 | 2,072.14 | 6,216.42 |
2.5 ประโยชน์ที่จะได้รับ
ดศ. ได้ประเมินว่า การดำเนินโครงการฯ จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศในส่วนของค่าเช่าคลาวด์ได้ 4,116.8585 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.22 และส่งเสริมระบบสารสนเทศของประเทศให้มั่นคงปลอดภัย เนื่องจากข้อมูลและระบบงานของหน่วยงานภาครัฐอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐที่มีมาตรฐานสากลด้านความมั่นคงปลอดภัยและตั้งอยู่ภายในประเทศ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการบริหารจัดการและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
_____________________
1บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ คือ การให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลและระบบงานแก่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้บริการโดยหน่วยงานสามารถข้าถึงและจัดการข้อมูล/ระบบงานของตนได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการลดภาระงบประมาณของหน่วยงานที่อาจต้องใช้ลงทุนอุปกรณ์ ระบบ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
2เครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักสำหรับการให้บริการระบบคลาวด์ โดย 1 VM ตามมาตรฐานการของบประมาณของ ดศ. ประกอบด้วย (1) หน่วยประมวลผลกลาง หรือ vCPU จำนวน 4 vCPU (2) หน่วยความจำหลัก หรือ RAM จำนวน 8 Gigabyte (GB) และ (3) พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือ Storage จำนวน 120 GB ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ องค์ประกอบของคอมพิวเตอร์เสมือนแต่ละองค์ประกอบสามารถปรับเพิ่ม – ลดจำนวนได้ตามความจำเป็น
3Government Cloud Marketplace คือ บริการออนไลน์ที่รวบรวมบริการคลาวด์ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถค้นหาและเลือกซื้อบริการคลาวด์ในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากบริการคลาวด์แบบโครงสร้างพื้นฐานที่ ดศ. ให้บริการอยู่